การตั้งราคา คือกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม และยิ่งเรารู้เคล็ดลับในการตั้งราคามากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งได้เปรียบคู่แข่งมากขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่าสินค้าราคาถูกสามารถเพิ่มความต้องในการซื้อได้จริง และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า แต่ว่าการจะตั้งราคาสินค้ามีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเอามาคำนึงร่วมด้วย หลักๆ คือ เรื่องของต้นทุน ราคาที่ขายต้องไม่ทำให้ขาดทุน ดังนั้น สินค้าบางชิ้นที่ต้นทุนสูงๆ จึงมีราคาแพงไปโดยปริยาย พ่อค้าแม่ค้าอาจจะกังวลว่า ถ้าต้องตั้งราคาที่ดูแพงเกินไป ลูกค้าก็จะไม่สนใจทันที จะขายยากขึ้น เพราะด้วยสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จะซื้อสินค้าแต่ละที ลูกค้าก็ต้องคิดแล้วคิดอีกเป็นธรรมดา แต่ไม่เป็นค่ะ! เพราะวันนี้ Loga มีวิธีการตั้งราคาสินค้ายังไง ให้ลูกค้ารู้สึกว่า “ถูก” ที่สุด
ลองตั้งราคาแบบนี้สิ ลูกค้าพยักหน้าตามว่า “ถูก” จริง!
ตั้งราคาแบบ Charming Price

คือ การตั้งราคาโดยลดราคาหลักสุดท้ายลงมาหนึ่งหน่วยเพื่อให้ราคาลงท้ายด้วยเลข 9 วิธีนี้ถือเป็นเทคนิคสุดเบสิค แต่ใช้ได้จริง เราจะเห็นบ่อยๆ เลยว่าราคาอะไรก็ตามที่ลงท้ายด้วยเลข 9 นั่น จะดูถูกลงเป็นเพราะว่าโดยปกติแล้วสมองของเรารับรู้ราคาจากซ้ายไปขวา เช่น 1,000 มากกว่า 999 ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า ราคาถูกลงกว่าเดิม (แม้ความจริงแล้วลดราคาไปเพียง 1 บาทเท่านั้น) หรืออาจกล่าวได้ว่าการตั้งราคา 999 ทำให้จากราคาหลักพันกลายเป็นราคาหลักร้อยได้ ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ปล. ถ้าสินค้ามีราคาสูงอย่าตั้งราคาเป็นตัวเลขกลมๆ เด็ดขาด
ตั้งราคาแบบหลอกล่อ ลดแลกแจกแถม
ซื้อ 2 แถม 1, ลดราคาเป็นเปอร์เซ็น หรือ ลดราคาเป็นจำนวนเงิน เป็นอีกวิธีการตั้งราคาขายที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วขึ้น และมองว่าสินค้าเหล่านั้น “ถูกลง” และคุ้มกว่าการซื้อสินค้าแค่ชิ้นเดียวที่ต้องจ่ายในราคาเต็ม

ราคาสินค้าราคาต่ำกว่าหลักร้อย –> ให้ลดราคาสินค้าเป็นเปอร์เซ็นต์

สินค้าที่มีมูลค่าสูง –> ให้ลดราคาโดยบอกเป็นจำนวนเงิน

กำจัดเครื่องหมายคอมม่า (,) และสกุลเงินออกทิ้งไป

ยิ่งเขียนราคาให้สั้นเท่าไหร่ ลูกค้าก็จะยิ่งรู้สึกว่าสินค้านั้นถูก การใส่เครื่องหมายคอมม่าในตัวเลขของราคา จะทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงมูลค่าสินค้าที่สูงขึ้น กล่าวคือ ยิ่งจำนวนพยางค์มากกว่ายิ่งทำให้รู้สึกถึงจำนวนที่มากกว่า แต่เมื่อเอาเครื่องหมายคอมม่าออก จะทำให้ลูกค้าเห็นว่าจำนวนหลักและการออกเสียงของตัวเลขก็ดูน้อยลง และรู้สึกว่าสินค้าชิ้นนั้นราคาถูกลงนั่นเอง

การตัดสกุลเงินออกจะช่วยลดความรู้สึก Pain of paying ซึ่งก็คือ ความรู้สึกเจ็บปวดเวลาที่เราคิดถึงการต้องเสียเงินไป โดยความเจ็บปวดนี้มาจากความคิดของเราเกี่ยวกับการจ่ายเงิน ยิ่งเราคิดถึงมันมากเท่าไร ความเจ็บปวดก็มากขึ้นเท่านั้น และความเจ็บปวดนี้อาจทำให้เรารู้สึกว่าความสุขที่ได้จากการซื้อของชิ้นนั้นลดลงไปได้ด้วย จนอาจจะทำให้ไม่อยากซื้อสินค้านั้นเลยก็ได้ ดังนั้นการนำเอาสัญลักษณ์สกุลเงินออก เช่น ฿ จะทำให้รู้สึกถึงความเป็นจำนวนมากกว่าราคานั่นเอง เช่นเดียวกับการชำระเงินสด และบัตรเครดิต การที่ลูกค้าต้องควักเงินสดออกไปจ่ายจะมี Pain of paying ที่สูงกว่าเพราะ เห็นเงินหายไปต่อหน้าต่อตา แต่กลับเป็นเรื่องง่ายในการรูดบัตรจับจ่ายในราคาที่เท่ากัน
ถ้าขายส่งให้เทียบจำนวนสินค้าตามด้วยราคา
“ซื้อ 100 ชิ้น ในราคา 50บาท”
ลูกค้าจะรู้สึกอยากซื้อสินค้าเมื่ออ่านป้ายราคาที่เขียนว่า “ซื้อ 100 ชิ้น ในราคา 50 บาท” มากกว่าป้ายราคาที่เขียนว่า “ ซื้อ 50 บาทได้สินค้า 100 ชิ้น” เพราะตามหลักจิตวิทยา ถ้าเราใส่จำนวนของที่มากไว้ด้านซ้ายมือ ตามด้วยตัวเลขราคาสินค้าที่น้อยกว่าในด้านขวามือ ลูกค้าจะรู้สึกว่าสินค้านั้นมีราคาถูกกว่าการเขียนแบบป้ายที่เอาราคาขึ้นก่อนแล้วตามด้วยสินค้า
ขอแถมเทคนิคพิเศษอีกหน่อย
ส่งฟรี!

ประโยคสั้น ๆ แต่เอาอยู่แทบทุกราย เพราะ “ค่าจัดส่งสินค้า” ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าคิดแล้วคิดอีกว่าจะช้อปต่อ หรือพอแค่นี้ แม้ว่าสินค้านั้นจะราคาถูกแค่ไหนแต่พอเจอบวกค่าจัดส่งเข้าไป ลูกค้าจะรู้สึกว่าแพงขึ้นมาทันที วิธีนี้จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าไวขึ้น ปิดการขายง่าย เพราะราคารวมส่งแล้วเรียบร้อย และยังให้ความรู้สึกว่าราคาสินค้านั้นถูกและคุ้มค่าขึ้นมาทันทีค่ะ นั่นเป็นเหตุผลที่หลายๆ ร้านเอาเทคนิคนี้ไปใช้โดยกำหนดยอดซื้อขั้นต่ำสำหรับการส่งฟรี เช่น
ซื้อครบ 500 บาท ส่งฟรีทันที หรือ สินค้า 2 ชิ้นส่งฟรี ลูกค้าที่ยอดไม่ถึงก็มักจะซื้อเพิ่มเพื่อให้ได้จัดส่งฟรี และบางคนที่ซื้อสินค้า 1 ชิ้น บวกค่าส่งแล้วจะรู้สึกว่า ซื้อ 2 ชิ้น ดีกว่าเพิ่มเงินอีกนิดหน่อยได้สินค้าเพิ่มอีก 1 ชิ้น และแถมยังได้ส่งฟรีอีกต่างหาก ถือเป็นเทคนิคการเพิ่มยอดขายที่ทรงประสิทธิภาพมาก

ทริคการทำป้ายราคาสินค้า

ใช้สีแดง (Red Price)
สีแดงเป็นสีที่ช่วยกระตุ้น และสะกดจิตลูกค้าให้อยากซื้อของ เพราะ คนทั่วไปมักมีภาพจำ และเชื่อมโยงจากประสบการณ์ว่าป้ายสีแดง = ราคาถูก เราจึงเห็นได้บ่อยๆ ว่าร้านค้ามักใช้ป้ายสีแดงสำหรับสินค้าที่ลดราคา หรือสินค้าราคาพิเศษนั่นเอง
ฟอนต์เล็ก
การทำให้ฟอนต์มีขนาดเล็กลงจะช่วยทำให้ลูกค้ารับรู้จำนวนราคาน้อยลงไปและรู้สึกว่าราคาสินค้าชิ้นนั้นมีราคาที่ไม่ได้แพงมากอย่างไม่รู้ตัว จำให้ขึ้นใจว่า ฟอนต์ขนาดเล็กใช้บอกว่า “สินค้าราคาถูก” ส่วนฟอนต์ขนาดใหญ่ ใช้ช่วยเน้นตอนสินค้าลดราคา
โดยเฉพาะสินค้าราคาแพงควรเน้นเขียนคำอธิบายคุณสมบัติของสินค้าอย่างละเอียดแล้วค่อยเขียนตัวเลขราคาเล็กๆ กำกับไว้ที่ด้านล่างเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าไม่ได้มีราคาสูงขนาดนั้นเมื่อเทียบกับสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับ
0 Comments